005: เว็บเจ็น
Static Web Generator เป็นอะไรที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องพึ่งพามันในการทำเว็บส่วนตัว เริ่มแรกสุดผมทำเว็บด้วยการเขียนเองก่อน ความจริงแล้วมันเริ่มต้นที่ Dreamweaver ซึ่งเป็นโปรแกรมทำเว็บตัวหนึ่ง คือเป็นการทำเว็บแบบเห็นหน้าเว็บว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอจะใช้งานจริง ๆ แล้วการทำเว็บแบบนี้มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง หลัก ๆ คือการแสดงผลที่ไม่ตรงกันในทุกระบบ คนเข้าเว็บที่ใช้เว็บเบราเซอร์ต่างกันอาจจะเห็นหน้าเว็บไม่เหมือนกัน แล้วยังมีปัญหาเรื่องความเร็วในการโหลด
จับ Dreamweaver อยู่พักหนึ่งผมก็แน่ใจว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ก็เลยไปหัด HTML ซึ่งเป็นภาษาเขียนเว็บ (เอาแบบคนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ ) และ CSS สำหรับตกแต่งเว็บ ก็ใช้งานพอได้ พอเรียนจนเป็นระดับหนึ่งแล้วก็หัด CGI สมัยก่อนเรียกว่า CGI นะ พวก ASP, JSP เทือกนั้น หัดอยู่พักหนึ่งก็ไปจับ CMS (Content Management System) โดยเลือก Drupal ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าในความคิดของผมตอนนั้น แต่ใช้ไปใช้มาก็ย้ายมาใช้ Wordpress แทนเพราะการใช้งานของตัวเองไม่ต้องการความซับซ้อนของ Drupal
ถึงจะใช้ Wordpress มาหลายปี แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งที่คาใจผมมาโดยตลอด นั่นคือความหน่วง ความช้า และความอ้วนของ Wordpress ใจผมอยากจะตัดเอาส่วนเกินออกไป แต่ความสามารถใจการเขียนโปรแกรมมีไม่ถึงจึงปรับแต่ง PHP ตามที่ตัวเองต้องการไม่ได้ ผมเองก็ไม่อยากจะเรียน PHP ซึ่งเป็นภาษาในการเขียน Wordpress เพิ่มอีก ดังนั้นผมจึงทนใช้มาเรื่อย ๆ โดยหาโหลดธีมที่เข้ากับความต้องการของตัวเองมากที่สุด
ก็ศึกษามาเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจจริงจังอะไรมาก โลกของเว็บก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากเดิมที่เน้นความสามารถอันหลากหลายของ CMS ก็เปลี่ยนกลายเป็นความเร็ว ความเรียบง่ายเพราะคนที่เล่นเน็ตในปัจจุบันนี้ใช้มือถือในการเปิดเว็บมากกว่าใช้คอมพิวเตอร์ เว็บที่หนัก ๆ ก็จะโหลดช้าไม่ทันใจ สุดท้ายเว็บก็วนกลับไปที่ Static HTML หรือหน้าเว็บแบบตายตัวที่โหลดเร็วและไม่กินทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์
สำหรับผม สิ่งที่เป็นสาเหตุให้เปลี่ยนมาใช้ Static Web Generator ก็คือความที่ไม่ต้องการเช่าโฮสต์อีกต่อไป แทนที่จะล็อกอินเข้าเว็บเพื่อลงบทความก็เปลี่ยนเป็นจัดการบทความทั้งหมดในเครื่องตัวเอง ใช้โปรแกรมแปลงบทความให้เป็นหน้าเว็บและอัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์โดยตรง ไม่ต้องให้เซิร์ฟเวอร์ทำการแปลงไฟล์เร็นเดอร์จากฐานข้อมูลให้เป็นหน้าเว็บเพื่อเรียกแสดงผลอีกต่อหนึ่ง
เนื่องจากเว็บ Static HTML ที่ไม่มีความสามารถในการทำงานแบบ Dynamic บนเซิร์ฟเวอร์สามารถวางเอาไว้กับผู้ให้บริการหลายเจ้าแบบฟรีโดยที่ไม่เสียเงิน ดังนั้นผมจึงไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้เลย ที่ต้องเสียก็คือค่าชื่อโดเมนของเว็บซึ่งจะมีราคาประมาณ 450-500 บาทต่อปี ประหยัดลงไปได้มากและได้เว็บที่มีชื่อสวยเหมือนเดิม
เดี๋ยววันหลังผมจะมาเขียนเรื่อง Static Web Generator เผื่อว่าจะมีคนสนใจหลงเข้ามาอ่านครับ